วัดเชนรานัคปุระ
วัดหินอ่อนริมเทือกเขาอันเลื่องลือ เป็นวัดในศาสนาเชนที่มีงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันทรงคุณค่า มีงานแกะสลักเสาหินอ่อนจำนวน 1444 ต้น ที่แต่ละต้นนั้นมีลวดลายไม่ซ้ำกันเลยสักต้น วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เป็น 1 ใน 5 ของศาสนสถานอันยิ่งใหญ่ของศาสนาเชน นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ก็ยังเป็นโบราณสถานระดับประเทศที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชมความงามและสักการะพระมหาวีระ องค์พระศาสดาของศาสนาเชนที่ถือกำเนิดในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดของพระพุทธศาสนา นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้หลังจากเวลา 11 โมงเช้า เพราะในช่วงเช้าทุกวันจะมีพิธีกรรมทางศาสนาของชาวเมืองท้องถิ่น
วัดบาไฮ
เป็นวัดที่สร้างขึ้นในยุคปัจจุบันและใช้เวลาสร้างเกือบ 10 ปี เพิ่งเปิดเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2529 แต่กระนั้นวัดแห่งนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญๆ ของประเทศอินเดีย และเป็นไฮไลท์ในการไปเยือนเมืองเดลี ทั้งนี้วัดบาไฮไม่ได้สังกัดศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นหลัก แต่สร้างขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่าวัดหรือศาสนสถานใดก็ตามต่างก็เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาในการกระทำดีของผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรมทุกคน โดยดอกบัวถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ความรัก และความเป็นอมตะในวัฒนธรรมของอินเดีย ในตัวอาคารโดมดอกบัวขนาดใหญ่ภายในจัดให้เป็นห้องโถงสำหรับทำสมาธิที่มีความจุถึง 1300 ที่นั่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกๆ วันจะมีผู้แสวงบุญจากที่ต่างๆ มานั่งสมาธิร่วมกันในโดมดอกบัวแห่งนี้
วัดศรีจินตามณี
หนึ่งในวัดสำคัญของเมืองปูเนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระพิฆเนศ ตามตำนานเล่ากันว่าในอดีตกาลนั้นมีฤาษีชื่อ “กปิล” หรือ “กปิละ” มีลูกแก้วสารพัดนึก “จินดามณี” หรือ “จินตามณี” ที่พระอินทร์ได้ประทานไว้ให้เพื่อดูแลคนในอาศรม วันหนึ่งเจ้าชายคณราช (บางตำราอ่านว่า “กานา”) ผู้ที่ได้บำเพ็ญเพียรกับพระศิวะจนได้รับประทานพรให้มีอำนาจยิ่งใหญ่ ได้เดินทางผ่านอาศรมของฤาษีกปิลและได้ล่วงรู้ถึงลูกแก้ววิเศษ จึงได้เอ่ยปากขอแต่ฤาษีปฏิเสธที่จะให้ เจ้าชายคณราชจึงทำการแย่งชิงไป ส่งผลให้เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารในอาศรมตามมา ฤาษีจึงได้ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระพิฆเนศให้ช่วยนำลูกแก้วกลับมา วันถัดมาองค์พระพิฆเนศได้เสด็จมาช่วยฤาษีกปิลปราบกองทัพของเจ้าชายคณราชจนหมดสิ้น เมื่อพระบิดาของเจ้าชายคณราชทราบเรื่องก็รีบนำลูกแก้วมาคืนและขอขมาต่อฤาษี หลังจากนั้นฤาษีได้อธิษฐานขอให้พระพิฆเนศมาประทับที่อาศรมนี้ตลอดไป จึงเป็นที่มาของวัดจินตามณี มีความเชื่อกันว่าหากใครได้มาขอพรกับลูกแก้ววิเศษที่วัดพระพิฆเนศแห่งนี้จะสำเร็จสมหวังทุกประการ
วัดศรีมยุเรศวร
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านนกยูง ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของนกยูงจำนวนมาก ตามตำนานเล่ากันว่าในอดีตนั้นมีเจ้าชายชื่อ “สินธุ” ที่เป็นได้รับประทานพรจากพระสุริยเทพให้เป็นอมตะ แต่เจ้าชายสินธุนั้นมีนิสัยดุร้าย เมื่อได้รับพรมาแล้วได้เที่ยวไปจับเทวดานางฟ้ามากักขัง เรื่องร้อนไปถึงพระพิฆเนศต้องประทับหลังนกยูงลงมาปราบ เมื่อปราบเจ้าชายสินธุได้แล้ว มหาเทวะทั้ง 5 องค์ (พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม พระศักติ และสุริยเทพ) ได้ขอให้พระพิฆเนศประทับที่นี่ พระพิฆเนศจึงได้เนรมิตเทวสถานแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ในการดูแลรักษาเมือง จึงเป็นที่มาของความศรัทธาที่ว่าหากได้มาสักการะที่วัดแห่งนี้แล้วจะแคล้วคลาดจากอุปสรรคและภยันตรายทั้งปวง
สังเวชนียสถานกุสินารา
1 ใน 4 สังเวชนียสถาน โดยเป็นสถานที่ตั้งของป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ “สาลวโนทยาน” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหิรัญญวดี ภายหลังถัดมาได้มีการสร้างวัดและศาสนถานในบริเวณนี้ขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ก็ถูกปล่อยให้รกร้างเมื่อพุทธศาสนาเสื่อมความศรัทธาลงในช่วงปีพ.ศ. 1743 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2433 ได้มีภิกษุมหาวีระ สวามีและท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา ได้เดินทางมาจาริกแสวงบุญและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เมืองกุสินาราร่วมกับ เน ซารี ชาวพุทธพม่า และได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า “มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา” นอกจากนั้นยังได้บูรณะศาสนสถานเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช “สถูปปรินิพพาน” ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีอายุกว่า 1,500 ปี ปัจจุบันเป็นศาสนสถานและโบราณสถานสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาสักการะ
สังเวชนียสถานสารนาถ
สารนาถหรือป่าอิสิปตนมฤคทายวันในสมัยพุทธกาล เป็นสถานที่บำเพ็ญตบะของเหล่าฤาษี นักพรต และเป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกแก่ปัจวัคคีย์ “ธรรมจักรกัปวัตนสูตร” โดยเชื่อกันว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมที่บริเวณ “ธรรมเมกขสถูป” ซึ่งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่สร้างถวายโดยพระเจ้าอโศกมหาราชในภายหลังและยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนั้น ณ สังเวชนียสถานแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศให้พระสาวกเริ่มเดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาในเมืองต่างๆ ทำให้สังเวชนียสถานสารนาถถือเป็นเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธแห่งแรก สังเวชนียสถานสารนาถได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2465 หลังจากถูกปล่อยร้างและทำลายลงในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลและศาสนาฮินดูเข้ามามีอิทธิพล โดยกองโบราณคดีของอังกฤษได้เข้ามาขุดค้นพบซากสถูปและศาสนสถานภายในบริเวณ และท่านอนาคาริก ปาละ ชาวศรีลังกาได้เข้ามาฟื้นฟูสารนาถให้เป็นแหล่งสำคัญทางพุทธศาสนาอีกครั้ง
พุทธคยา
มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “วัดมหาโพธิ์” และเป็นหนึ่งในมรดกโลกอันสำคัญทางวัฒนธรรม เป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถานสำคัญของพุทธศาสนา ภายในเขตพุทธคยาแห่งนี้มีสถานที่สำคัญทางศาสนาอยู่หลายแห่ง เข่น ต้นศรีมหาโพธิ์ อันเป็นต้นโพธิ์ที่เกิดมาพร้อมกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แต่ได้ถูกทำลายลงหลายครั้ง แต่ก็ได้มีการปลูกทดแทนต้นเดิมจากหน่อของต้นเดิมมาเรื่อยๆ จนถึงในปัจจุบันเป็นต้นที่ 4 พระแท่นวัชรอาสน์ที่ประทับของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้เห็นธรรม และมหาโพธิ์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่พระเจ้าหุวิชกะได้สร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นที่ปฏิบัติธรรมของผู้มีจิตศรัทธา พุทธคยาได้เสื่อมถอยลงในช่วงศาสนาฮินดูเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนชมพูทวีปและถูกแปลงให้เป็นเทวสถานและปล่อยทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมในกาลเวลาต่อมา จนถึงช่วงที่อังกฤษเข้ามาครอบครองอินเดีย พุทธคยาจึงได้ถูกค้นพบและได้รับการบูรณะครั้งใหญ่จากพุทธศาสนิกชนที่ได้รับรู้ถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
มหาสถูปเกสรียา
มหาสถูปขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดียที่มีลักษณะคล้ายกับบุโรพุทโธและเจดีย์ชเวดากอง สันนิษฐานว่ามหาสถูปเกสรียาเป็นต้นแบบของสถูปทั้งสอง นอกจากนั้นในบริเวณเดียวกันยังได้ขุดค้นพบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย ที่มาของมหาสถูปแห่งนี้นั้นในสมัยพุทธกาลเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกาลามชน ในครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งนี้และได้ทรงแสดงธรรมเทศนาที่เรียกว่า “เกสปุตตสูตร” หรือ “กาลามสูตร” หรือหลักแห่งความเชื่อที่ไม่งมงาย 10 ประการ
วัดพระเชตวันมหาวิหาร
วัดโบราณของพุทธศาสนาในอินเดียอันมีต้นโพธิ์ที่เกิดจากเมล็ดของต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระอานนท์ได้นำมาจากพุทธคยา ชื่อว่า “ต้นอานันทโพธิ์” ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบันนี้ วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองสาวัตถีที่พระพุทธเจ้าเคยมาประทับจำพรรษาอยู่ถึง 19 พรรษา แม้ว่าในปัจจุบันวัดแห่งนี้จะเหลือเพียงซากโบราณสถานแต่ก็ได้รับการบูรณะอย่างดีที่สุดเท่าสามารถทำได้ และยังเป็นที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ภายในวัดพระเชตวันนอกจากจะมีต้นอานันทโพธิ์แล้ว ก็ยังมีกุฏิพระมหาเถระ และบ่อน้ำสรงสนาน ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลอีกด้วย
วัดพระเชตวันมหาวิหาร
วัดโบราณของพุทธศาสนาในอินเดียอันมีต้นโพธิ์ที่เกิดจากเมล็ดของต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระอานนท์ได้นำมาจากพุทธคยา ชื่อว่า “ต้นอานันทโพธิ์” ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบันนี้ วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองสาวัตถีที่พระพุทธเจ้าเคยมาประทับจำพรรษาอยู่ถึง 19 พรรษา แม้ว่าในปัจจุบันวัดแห่งนี้จะเหลือเพียงซากโบราณสถานแต่ก็ได้รับการบูรณะอย่างดีที่สุดเท่าสามารถทำได้ และยังเป็นที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ภายในวัดพระเชตวันนอกจากจะมีต้นอานันทโพธิ์แล้ว ก็ยังมีกุฏิพระมหาเถระ และบ่อน้ำสรงสนาน ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลอีกด้วย
วัดเวฬุวันมหาวิหาร
เป็นวัดแห่งแรกของศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาบรรพต นอกกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ แต่เดิมนั้นเป็นเขตพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสารที่ในกาลต่อมาได้ยกถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นที่บำเพ็ญธรรมของเหล่าสงฆ์จึงนับได้ว่าสวนเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรก นอกจากนั้นสวนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสาวกจำนวน 1,250 รูป ในวันมาฆบูชาอีกด้วย ในปัจจุบันเป็นป่าไผ่และมีซากโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ เป็นสถานที่ๆ มีผู้มาจาริกแสวงบุญเป็นจำนวนมาก
เขาคิชกูฎ
ในบริเวณเขาแห่งนี้มีศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่ คือ สถูปวิศวะศานติ (Vishwa Shanti Stupa) ซึ่งเป็นวัดญี่ปุ่นที่สมณะท่านฟูจิได้สร้างถวายเป็นพุทธบูชา มีพระพุทธรูปรอบสถูปสี่องค์ สถูปแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นเขาคิชกูฎ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ทำทางลาดเพื่อขึ้นไปบนยอดเขาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์และชาวเมืองที่จะมานมัสการพระพุทธเจ้า รวมไปถึงพระองค์เองที่มักจะมาสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์อยู่บ่อยๆ โดยบนยอดเขานั้นมี “มูลคันธกุฎี” หรือที่ประทับของพระพุทธเจ้า และบริเวณทางขึ้นก็ยังมี “ถ้ำสุกรขาตา” สถานที่ๆ พระสารีบุตรได้บรรลุธรรม และ “ถ้ำสัตตบรรณคูหา” อันเป็นที่ทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก
ข้อมูลจาก : www.skyscanner.co.th