[HANG ชวนเที่ยว : EP63] อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว รวมความสุดยอดแห่งธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 อยู่ในท้องที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น กระทิง ช้าง กวาง เก้ง หมาไน เสือ กระต่ายป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ และนกชนิดต่างๆ เทือกเขาสูงบางแห่งยังประกอบด้วยหน้าผาสูงชัน ที่สวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง ผามัดพริก ผาป่าเล่า นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงาม เช่น ถ้ำห้วยประหลาด หรือถ้ำมรกต ถ้ำผาหงษ์ ถ้ำน้ำหนาว น้ำตกเหวทราย น้ำตกทรายทอง น้ำตกพรานนก

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฏว่า มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ โดยประกสศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 5 ของประเทศ

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นใน อุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ และตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน 2525

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิและจังหวัด เพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย ภูผาจิต ภูกุ่มข้าว โดยภูด่านอีป้องเป็นจุดสูงสุด มีความสูง 1,271 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์

ลักษณะภูมิอากาศ

โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้งน้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

ป่าน้ำหนาวเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิดประกอบด้วย

  • ป่าดิบชื้น พบบริเวณหุบเขาและริมลำห้วย ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง มะหาด ยมหอม ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นหวาย และปาล์ม เป็นต้น
  • ป่าดิบเขา เป็นป่าส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติพบขึ้นบริเวณยอดเขาที่มีความสูงจากระดับ น้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นก่อสกุลต่างๆ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมูน้อย ก่อตาหมูหลวง เป็นต้น
  • ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นตามไหล่เขาต่อจากป่าดงดิบทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ และกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ทางด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก งิ้วป่า ยอป่า ชิงชัน ซ้อ เป็นต้น
  • ป่าสนเขา พบในที่ประมาณ 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีสนสามใบ และส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา พบทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ดงแปก และที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
  • ป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่งขึ้นอยู่บริเวณที่แห้งแล้ง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ หน้าดินตื้น เป็นกรวดหรือลูกรัง ทำให้ต้นไม้แคระแกร็น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง กราด รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าเพ็ก พบบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติทั้งสองข้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 และทุ่งหญ้า ประกอบไปด้วยหญ้าคา หญ้าเพ็ก มีพันธุ์ไม้ใหญ่ปะปนอยู่บ้าง เช่น ติ้ว กระโดน และแต้ว เป็นต้น

เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง เสือโคร่ง เสือดาว ค่าง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า กระต่ายป่า ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล ค้างคาวไอ้แหว่งน้อย เต่าปูลู และเต่าเดือย สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีนกชนิดต่างๆ มากว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเหงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ป่า เป็นต้น และยังมีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด

สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายใน อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ชัยภูมิ

ทุ่งหญ้ากงวัง หรือ ทุ่งกงวัง

จากหน่วยพิทักษ์ถ้ำห้วยประหลาด บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงสายหล่มสัก-ชุมแพ ลึกเข้าไปทางด้านหลังของหน่วยพิทักษ์ถ้ำห้วยประหลาดประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีทุ่งหญ้า ตามธรรมชาติที่กว้างหลายตารางกิโลเมตร เรียกว่า ทุ่งหญ้ากงวัง เป็นทุ่งหญ้าที่มีหญ้าขึ้นอยู่
นานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่มากมาย

ถ้ำผาหงษ์

ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นเขาสูง มีทางเดินเท้าขึ้นยอดเขาประมาณ 100 เมตร เพื่อชมวิวทิวทัศน์ และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม

สวนสนบ้านแปก

ทางเข้าอยู่ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบ ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก

สวนสมภูกุ่มข้าว

ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) มีทางลูกรังระยะทาง 15 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสามใบ ลำต้นขนาดสูงใหญ่ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เมื่อยืนอยู่บนเนินเขาภูกุ่มข้าว จะเห็นยอดสนอยู่ในระดับสายตา
เป็นแนวติดต่อกันทั้งสี่ด้าน ส่วนทางทิศใต้ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์หรือเขื่อนน้ำพรม

น้ำตกซำผักคาว

อยู่ตอนบนของลำห้วยสนามทราย มีทางเดินเท้าเข้าไปได้ตรงหลักกิโลเมตรที่ 64 ของถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ ระยะทางเดินเท้าประมาณ 400 เมตร น้ำตกมีความสูงประมาณ 3 เมตร

น้ำตกทรายแก้ว

อยู่ห่างจากน้ำตกซำผักคาวประมาณ 500 เมตร มีทางเท้าซึ่งเดินจากถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ ตรงกิโลเมตร 67.5 น้ำตกมีความสูงประมาณ 5 เมต

น้ำตกทรายเงิน

อยู่ห่างจากน้ำตกทรายแก้วประมาณ 700 เมตร มีทางเท้าจากถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ เช่นเดียวกัน ปากทางเข้าน้ำตกอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 64.5 น้ำตกมีความสูงประมาณ 5 เมตร

น้ำตกเหวทราย

ทางเข้าอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดขึ้นจากห้วยสนามทราย
ซึ่งต้นห้วยอยู่ที่ป่าดงดิบที่เรียกว่าดงแหน่งไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้เป็นแนวธรรมชาติที่แบ่งเขตแดนระหว่าง อำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ น้ำในห้วยสนามทรายจะไหลไปลงลำน้ำเชิญ และลำน้ำเชิญจะไหลผ่านลงแม่น้ำพองจนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

น้ำตกทรายทอง

เป็นน้ำตกที่มีความกว้างที่สุดคือ ประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นน่านั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในฤดูฝน
คือประมาณเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ของทุกปี มีทางเดินเท้ามาทางน้ำตกเหวทราย ห่างกันประมาณ 1 กิโลเม

น้ำผุด

จากน้ำตกทรายทองไปไม่ไกล จะพบกับธรรมชาติที่พิสดารและสวยงาม คือมีน้ำไหลซึมตามก้อนหินผุดออกมาเป็นบ่อๆ คล้ายๆ กับบ่อน้ำร้อนที่ผุดออก

ภูผาจิต (ภูด่านอีป้อง)

ทางเข้าอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 69 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้า ประมาณ 6-7 กิโลเมตร สภาพป่าสวยงามมีลักษณะเด่นคือ ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสัณฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มีที่ราบคล้ายภูกระดึง มีไม้สนขึ้นอยู่ที่เดียวกัน ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว คือสูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเล

หนองปลาไหล

อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ชำบอนประมาณ 5 กิโลเมตร หนองปลาไหล เป็นหนองน้ำที่อยู่ใจกลางของป่าสน มีน้ำอยู่ตลอดปี เป็นหนองน้ำที่มีปลาไหลอยู่ชุกชุม จึงได้ชื่อว่าหนองปลาไหล ในฤดูแล้งบริเวณทุ่งหญ้าหนองปลาไหลจะถูกไฟไหม้เกือบทุกปี พอฤดูฝนมาถึงรอบบริเวณหนองน้ำ พรรณไม้ต่างๆ ก็จะเริ่มผลิดอกออกช่อ ทุ่งหญ้าก็แลดูเขียวชอุ่มมีชีวิตชีวาขึ้นหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป

หนองน้ำขุ่น

หนองขุ่นเป็นหนองน้ำซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ตัวหนองน้ำอยู่บริเวณข้างลำห้วย น้ำพรม ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ บริเวณหนองน้ำขุ่นมีป่าสนสลับกับป่าดงดิบ ห่างจากสำนักงานอุทยานฯ น้ำหนาว

ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน จึงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและสัตว์ปาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวข้ามไปมาโดยอาศัยหนองน้ำขุ่นนี้เป็นแหล่งน้ำ

น้ำตกตาดพรานบา

ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตรที่ 20 ทางหลวงบ้านห้วยสนามทราย อำเภอหล่มเก่า เป็นทางลูกรัง รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ จะมีน้ำตกขนาดใหญ่ตกลงจากหน้าผา สูงประมาณ 20 เมตร น้ำจะตกจากหน้าผาพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่าง โดยลำน้ำจะตกลงสู่เบื้องล่างเป็นสองชั้น
น้ำตกแห่งนี้มีน้ำตกตลอดทั้งปี อันเกิดจากลำน้ำเชิญ สาเหตุที่มีชื่อว่าตาดพรานบาเป็นผู้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก

ผาล้อม ผากอง

ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5-7 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่สูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,134 เมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีค่ามาก บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 874 เมตร ผาต้นฮอม มีความสูงประมาณ 900 ฟุต และผาอื่นๆ อีกหลายแห่ง

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว (ภูน้ำริน)

ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีทางลูกรังเข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ถ้ำใหญ่น้ำหนาวอยู่บนเขา สูงประมาณ 955 เมตร ลักษณะเป็นหินปูน เป็นถ้ำใหญ่ที่มีความวิจิตรพิสดารของธรรมชาติ มีหินงอกหินย้อยและแปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำริน ภายในถ้ำจะมีปล่องธรรมชาติ ที่แสงแดดสามารถส่องไปในถ้ำซึ่งมีอยู่เป็นช่วง ภายในถ้ำเป็นที่อาศัยของค้างคาว นับเป็นจำนวนแสนตัว ความลึกของตัวถ้ำนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด เนื่องจากเป็นถ้ำ ที่มีความลึกมาก และยังไม่มีผู้ใดเข้าไปทำการสำรวจอย่างทั่วถึง

สถานที่ติดต่อ และการเดินทางไปยัง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เพชรบูรณ์ 

  • อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อ. น้ำหนาว  จ. เพชรบูรณ์   67260
  • โทรศัพท์ 08 1962 6236,0 56810724
  • โทรสาร 08 1888 4107
  • อีเมล namnao_np11@hotmail.com

การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

  • ที่ทำการ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 103 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 มีป้ายชี้ทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (ไปจากหล่มสักป้ายจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ไปจากข่อนแก่นป้ายจะอยู่ทางด้านขวามือ) จากถนนใหญ่เดินทางต่อทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว บ้านพัก เต็นท์ รับกุญแจบ้านพัก และอื่นๆ ได้ที่ศูนย์บริการฯ ถ้าไปโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถโดยสายจากขอนแก่นหรือหล่มสัก ซึ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุกวัน
  • จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลขที่ 21 จากเพชรบูรณ์ไปทางอำเภอหล่มสัก ระยะทางประมาณ 39 กิโลเมตร
    เมื่อถึงทางแยกหล่มสัก ให้เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลขที่ 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) อีกประมาณ 50 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซึ่งเป็นทางลูกรังเข้าไปยังที่ทำการอุทยานฯระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
  • จากจังหวัดขอนแก่น ให้ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 จะมีทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งเป็นทางลูกรังระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าเดินทางโดยอาศัยรถประจำทาง จะมีรถโดยสารทั้งจากขอนแก่นและจากหล่มสัก ผ่านหน้าที่ทำการอุทยานฯทุกวัน
Scroll to Top