วันอังคารที่ 3 มกราคม 2560 เวลา 21:00 น. จะมีฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids) ดาวตกมากถึง 120 (60-200) ดวงต่อชั่วโมง สามารถดูฝนดาวตกจากทิศทางไหนก็ได้ครับ เพราะตกทั่วท้องฟ้า อาจนอนดูกลางท้องฟ้า ซึ่งกว้างและมืดกว่าตรงใกล้ขอบฟ้า มีโอกาสเห็นดาวตกมากกว่า
ถ้าจะดูจุดกระจายหรือจุดศูนย์กลางของฝนดาวตกควอดแดรนต์จะขึ้นมาประมาณหลังตี 1 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เห็นฝนดาวตกควอดแดรนต์เหมือนพุ่งออกมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) แต่ไม่จำเป็นต้องมองที่จุดกระจาย (ถ้ามองใกล้จุดกระจาย ดาวตกจะสั้นกว่ามองห่างออกไป) ดูได้ทั้งคืนตั้งแต่หัวค่ำจนเช้าครับ
ช่วงหัวค่ำมีแสงจันทร์รบกวนบ้าง ดวงจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ เป็นเสี้ยว 27% ดวงจันทร์ตก 22:32 น.
กรุงเทพฯ อาจเห็นได้บ้างแต่น้อย เฉพาะดาวตกที่เป็นลูกไฟสว่าง
ฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids ชื่อย่อ QUA ลำดับที่ 010) วันที่ 28 ธันวาคม 2559 – 12 มกราคม 2560
มากที่สุดวันอังคารที่ 3 มกราคม 2560 เวลา IMO 21:00 น. / NASA
SKYCAL 21:10 น. ดวงจันทร์ ขึ้น 10:29 น. ตก 22:32 น. ข้างขึ้น 6 ค่ำ ขนาด 27%
ดวงอาทิตย์ ขึ้น 06:58 น. ตก 18:00 น.
ได้ชื่อจากกลุ่มดาวโบราณ Quadrans Muralis (เครื่องวัดมุม) ปัจจุบันกลุ่มดาวนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เกิดจากดาวเคราะห์น้อย 2003 EH1 ช่วงมากที่สุดมีดาวตกมากถึง 120 (60-200) ดวงต่อชั่วโมง ล่าสุดปี ค.ศ. 2016 พบดาวตก 103 ดวงต่อชั่วโมง เนื่องจากเกิดในฤดูหนาว ท้องฟ้ามักแจ่มใส มีโอกาสเห็นดาวตกได้มาก ดาวตกมีความเร็วปานกลางคือ 41 กิโลเมตรต่อวินาที และมีสีน้ำเงิน
เทคนิคการดูฝนดาวตก
แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่าฝนดาวตก ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เราเรียกจุดนั้นว่าจุดกระจาย (radiant) ชื่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวฤกษ์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดกระจาย บางปี ฝนดาวตกบางกลุ่มจะมีอัตราตกสูงเป็นพิเศษ เกิดขึ้นเมื่อโลกโคจรผ่านธารสะเก็ดดาวในส่วนที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่น ปัจจุบัน วิธีการพยากรณ์ว่าจะมีฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงมากเมื่อใด กระทำโดยสร้างแบบจำลองทำนายการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาว แล้วคำนวณว่าโลกจะมีเส้นทางผ่านธารสะเก็ดดาวนั้นเมื่อใด
หลังจากรู้หลักการดูไปแล้ว ต่อมาเรามาทำความรู้จักกับกล้องดูดาว ชนิดต่างๆกันก่อนนะครับ ^^ (ดูด้วยตาเปล่าก็ได้แต่ไม่ชัดเจนเท่าไร)
กล้องดูดาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท โดยกล้องดูดาวนั้นสามารถแบ่งลักษณะได้จากเลนส์หรือกระจก หรือเป็นแบบผสม กล่าวคือ กล้องดูดาวที่เกิดขึ้นในยุคแรกนั้นเป็นกล้องดูดาวประเภทหักเหแสง
กล้องดูดาวหักเหแสง (Refractor Telescopes)
กล้องดูดาวหักเหแสงในยุคแรกจะใช้เลนส์เดี่ยวในการสร้างเลนส์หน้ากล้องดูดาว ต่อมาจึงมีการวิวัฒนาการโดยใช้เลนส์ประกอบหรือเลนส์อะโครเมติก (Achromatic Lens) ที่สามารถแก้ไขสีได้ 2 ช่วงคลื่น เช่น สีแดงกับสีเขียว หรือสีแดงกับสีน้ำเงิน เนื่องจากเลนส์ประเภทนี้สร้างได้ง่ายขึ้น จึงเป็นที่นิยมในการทำกล้องดูดาวหักเหแสงในปัจจุบัน กล้องดูดาวหักเหแสงที่ขายในราคาไม่เกิน 2-3 หมื่นบาทส่วนใหญ่เป็นกล้องดูดาวที่ใช้เลนส์แบบอะโครมาติก ส่วนกล้องดูดาวหักเหแสงที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านั้นจะใช้เลนส์ประกอบแบบอะโปโครเมติก (Apochormatic Lens) ซึ่งสามารถรวมแสงในทุกช่วงคลื่นแสงได้ทั้งหมดในจุดโฟกัสเดียวจึงไม่ทำให้ภาพที่ได้จากกล้องดูดาวหักเหแสงนี้เกิดสีรุ้งหรือสีเหลื่อมที่ขอบแต่อย่างใด
กล้องดูดาวสะท้อนแสง(Reflector Telescopes)
กล้องดูดาวอีกประเภทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาทีหลังได้แก่กล้องดูดาวสะท้อนแสง ซึ่งใช้กระจกเป็นตัวรวมแสงเข้าด้วยกัน กล้องดูดาวสะท้อนแสงจึงไม่พบปัญหาในเรื่องของสีรุ้งแต่อย่างใด แต่จะมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมากกว่ากล้องดูดาวหักเหแสงค่อนข้างมาก ดังนั้นกล้องดูดาวสะท้อนแสงจึงมีหน้ากล้องที่ค่อนข้างใหญ่กว่ากล้องดูดาวหักเหแสงและทำให้กล้องดูดาวสะท้อนแสงเหมาะสำหรับการส่องวัตถุท้องฟ้า (deep space object) เช่นเนบิวล่า แกแลกซี่ กระจุกดาว ซึ่งมีความสว่างน้อย ๆ
กล้องดูดาวสะท้อนแสงสามารถแบ่งได้จากลักษณะขาตั้งกล้องดูดาวอีก 2 ประเภท อันได้แก่ กล้องดูดาวสะท้อนแสงนิวโตเนี่ยน (Newtonian Telescopes) ซึ่งเป็นกล้องดูดาวสะท้อนแสงที่ประกอบขึ้นโดยใช้ขาตั้งกล้องดูดาวแบบอิเควตอเรียล ในขณะที่กล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาดใหญ่กว่านั้นมักใช้ขาตั้งกล้องดูดาวที่ง่ายแก่การใช้งานมากขึ้นอันได้แก่ขาตั้งกล้องดูดาวแบบดอปโซเนี่ยน ซึ่งทำให้เราเรียกกล้องดูดาวประเภทนี้ว่ากล้องดูดาวสะท้อนแสงดอปโซเนี่ยน (Dobsonian Telescopes)
กล้องดูดาวผสม (Catadioptric Telescopes)
กล้องดูดาวผสมนั้นเกิดมาจากความต้องการในการลดขนาดกล้องดูดาวหักเหแสงให้เล็กลงโดยที่ยังคงความยาวโฟกัสของกล้องดูดาวไว้ได้ดังเดิมกล้องดูดาวผสมจึงเป็นการนำกล้องดูดาวหักเหแสง และกล้องดูดาวสะท้อนแสงมารวมไว้ด้วยกัน กล้องดูดาวผสมนี้จึงมีผู้คิดค้นระบบได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กล้องดูดาวผสมมักซูตอฟแคสซิเกรน (Maksutov-Cassegrain) และกล้องดูดาวผสมชมิดช์แคสซิเกรน (Schmidt-Cassegrain) โดยทั่วไปแล้วนั้นการทำกล้องดูดาวผสมประเภทมักซูตอฟแคสซิเกรนจะให้ประสิทธิภาพของกล้องดูดาวที่ดีกว่ากล้องดูดาวผสมประเภทชมิดช์แคสซิเกรน
ขอให้ดูดาวกันอย่างมีความสุขนะครับ ….